บทความวิชาการ

การนวดเต้านมเพื่อแก้ไขภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

อังสนา ศิริวัฒนเมธานนท์พย.ม.1

ปาลิตา โพธิ์ตา พย.บ.2

โสภา บุตรดา พย.ม.1

อรดี โชคสวัสดิ์ พย.ม.3

ปรางทิพย์ ทาเสนาะ เอลเทอร์Ph.D. 4

 

บทคัดย่อ

ภาวะท่อน้ำนมอุดตันเป็นการอุดกั้นการไหลของน้ำนมทําให้มารดาเกิดความเจ็บปวด ไม่สุขสบายจนอาจยุติการให้นมบุตรในที่สุด การนวดเต้านมเป็นวิธีการพยาบาลที่พบว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้เพราะการนวดเป็นการส่งเสริมการทํางานของระบบการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง เพิ่มการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อร่างกาย

นอกจากนี้การนวดเต้านมยังเป็นวิธีที่ปลอดภัย สะดวก และประหยัด เพราะมารดาหลังคลอดสามารถนวดตัวเองที่บ้านได้จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าวิธีการนวดเต้านมที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้มี 3 วิธีคือ

1) การนวดเพื่อการบําบัด

2) การนวดเพื่อการรักษาแบบ 6 ขั้นตอน และ

3) การนวดแบบผสมผสานหรือแบบกายภาพบําบัด

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนําเสนอวิธีการนวดเต้านมด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่าที่คลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ได้ให้บริการนวดแก่มารดามาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี  โดยประยุกต์มาจากการนวดของประเทศฟิลิปปินส์ ประกอบไปด้วยท่าผีเสื้อขยับปีกท่าหมุนวนปลายนิ้วท่าประกายเพชรท่ากระตุ้นท่อน้ำนมท่าเปิดท่อน้ำนมและท่าพร้อมบีบน้ำนมโดยเชื่อว่าการนวดแต่ละท่าจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทําให้ท่อน้ำนมและต่อมน้ำนมทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาท่อน้ำนมอุดตันในที่สุด 

คําสําคัญ: การนวดเต้านม ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน การเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา 

1 โรงพยาบาลบุรีรัมย์

2 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชชนนี นครราชสีมาคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก

3 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก

4 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชธานี

คัดลอกจาก วารสารวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2565)

บทนํา

ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน(blockedducts หรือ plugged ducts) เป็นปัญหาในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาของมารดาส่วนใหญ่ (ร้อยละ 67) ที่มารับการรักษา1ภาวะนี้เกิดจากที่ท่อน้ำนมถูกอุดกั้น ทําให้น้ำนมระบายออกจากเต้านมไม่เพียงพอ จึงค้างอยู่ในเต้านมบางกลีบ ส่งผลให้มารดามีอาการเจ็บเต้านมผิวหนังบริเวณนั้นมีอาการแดง หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะพัฒนาไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบ ติดเชื้อ หรือเป็นหนองได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีในน้ำนม2

ปัญหาต่อเนื่องจากภาวะท่อน้ำนมอุดตันนี้อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อความสําเร็จการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่จนครบ 6 เดือนตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก3ซึ่งกําหนดเป้าหมายจํานวนมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 25684

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานสถิติการเกิดท่อน้ำนมอุดตันในประเทศไทย แต่จากสถิติของมารดาที่มารับบริการในคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ในปี พ.ศ. 2561-2563  พบว่าจํานวนมารดาที่มีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันเพิ่มขึ้นทุกปี คือ953 ราย, 1,033, และ 1,699 รายตามลําดับ5ความเจ็บปวด ไม่สุขสบาย จากสาเหตุต่าง ๆ รวมทั้งจากภาวะท่อน้ำนมอุดตันอาจส่งผลให้มารดายุติการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่ได้6

หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมอาจทําให้มีโอกาสที่แต่ละประเทศจะไม่บรรลุเป้าหมายของWHO จะเห็นได้จากรายผลการสํารวจทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนมีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้น7 และจากผลการสํารวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุดในปีพ.ศ. 2562 พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนมีเพียงร้อยละ 14 ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 เท่า8  และเป็นประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนต่ำที่สุดของประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

ส่วนข้อมูลจากระบบข้อมูล Health Data Center (HDC)9 ของกระทรวงสาธารณสุข 3 ปีย้อนหลัง (2563-2565) พบว่าในภาพรวมของประเทศเด็กแรกเกิด -ต่ำกว่า 6 เดือนที่กินนมแม่อย่างเดียวมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย คือเท่ากับร้อยละ 62.08, 62.21, และ 61.81ตามลําดับ แตกต่างจากข้อมูลของเขตสุขภาพที่ 9 ที่พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ เท่ากับร้อยละ 75.44, 76.41, และ 78.86 ตามลําดับ ซึ่งเป็นจํานวนที่สูงที่สุดในประเทศทั้ง 3 ปีการที่จะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเกือบ 4 เท่าในระยะเวลา 3 ปีเป็นความท้าทายของบุคลากรด้านสุขภาพที่ต้องส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจังด้วยการค้นหาและแก้ไขปัญหาของมารดาในระหว่างการให้นมบุตรใน 6 เดือนแรกโดยเฉพาะภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

การนวดเต้านมจึงเป็นทางเลือกที่สําคัญในการรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตัน เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ ลดการอุดกั้นต่อน้ำนม เพิ่มการระบายน้ำนม ช่วยบรรเทาอาการปวด และถูกนําไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มการไหลของน้ำนมอีกด้วย10

การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับวิธีการนวดเต้านมเพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่าวิธีการนวดลดอาการท่อน้ำนมอุดตันมี 3 วิธี ได้แก่

1) วิธีนวดเพื่อการรักษา (Therapeutic breast massage in lactation [TBML])

2) วิธีการนวดเพื่อการรักษาแบบ 6 ขั้นตอน (Six-step  recanalization manual  therapy [SSRMT])

3)โปรแกรมการทํากายภาพบําบัด (Comprehensive treatment [CT] or physical therapy intervention)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อนําเสนอวิธีการนวดเต้านมเพื่อแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันโดยนําเสนอเนื้อหาด้านกายวิภาคของเต้านมหัวนมและลานนมกลไกการสร้างและการไหลของน้ำนม ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน และการนวดเต้านมเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะท่อน้ำนมอุดตันสี่วิธีได้แก่ วิธี TBML, SSRMT, CT หรือ PTและวิธีการนวดเต้านมด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่า(Six Steps of Basic Breast Massage [SSBBM]) โดยสามวิธีแรกจะนําเสนอโดยสังเขป และวิธีที่ 4 จะนําเสนอโดยละเอียดเนื่องจากเป็นวิธีการนวดที่คลินิกนมแม่ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ใช้แก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันของผู้รับบริการและกําลังพัฒนาให้มีประสิทธิผลเพื่อนําไปใช้แก้ไขปัญหาภาวะท่อน้ำนมอุดตันของมารดาในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงต่อไป

 

กายวิภาคของเต้านม หัวนม และลานนม

เต้านม (Corpus Mammae) ประกอบ ด้วยต่อมน้ำนม (Alveolar) ท่อน้ำนม (Duct) และเนื้อเยื่อไขมันโดยท่อน้ำนมจะแตกแขนงเป็นฝอยส่วนปลายพองเป็นกระเปาะเรียกว่าต่อมน้ำนม น้ำนมที่สร้างภายในเซลล์ต่อมน้ำนม (Alveolar cells) จะรวมอยู่ภายในกระเปาะต่อมน้ำนม (Alveolus)

เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อเล็ก (Myoepithelial cells) หดตัวจะบีบไล่น้ำนมให้ไหลไปตามท่อ (Ductile) และไปรวมกันที่Lactiferous duct  ซึ่งจะไปเปิดที่หัวนม ในอดีตเชื่อว่าส่วนของท่อที่ทอดผ่านบริเวณใต้ลานหัวนมจะพองออกเป็นกระเปาะเรียกว่าแอ่งเก็บน้ำนม (Lactiferoussinus) เป็นที่พักเก็บน้ำนม แต่การศึกษาปัจจุบันพบว่าไม่มีอยู่จริง3

หัวนม (Nipple)มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 มิลลิเมตร ลักษณะนุ่มและลู่ไปตามรูปปากของทารก ภายในหัวนมจะมีท่อน้ำนม (Lactiferous duct) ประมาณ 15-20 ท่อ11ส่วนลานนม (Areola) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 -2.5 เซนติเมตร

ขณะตั้งครรภ์ผิวหนังบริเวณหัวนมและลานหัวนมจะมีสีเข้มขึ้นและไม่จางไปภายหลังคลอด ในชั้นผิวหนังของหัวนมและลานหัวนมจะมีกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) เรียงประสานกันตามแนวรัศมีออกไปจากหัวนม และเป็นวงกลมล้อมรอบท่อน้ำนมเมื่อกระตุ้นหัวนมและลานหัวนมกล้ามเนื้อเหล่านี้จะหดรัดตัวทําให้หัวนมหดเล็กลง12

กลไกการสร้างและการไหลของน้ำนมหลังรกคลอด ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดต่ำลง ในขณะที่ฮอร์โมนโปรแลคตินและออกซีโตซินจะเพิ่มสูงขึ้นทันที จึงเกิดการกระตุ้นกลุ่มเนื้อเยื่อที่ทําหน้าที่ในการสร้างน้ำนม (Alveoli) ให้สร้างและหลั่งน้ำนม13โดยกลไกหลัก 2 กลไกดังนี้

  1. ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior pituitary gland) หลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างน้ำนมให้สร้างน้ำนมในระยะที่ 2 โดยการดูดนมของทารกจะกระตุ้นให้ระดับของโปรแลคตินเพิ่มสูงขึ้นและมีการสร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง  การสร้างน้ำนมในระยะที่ 3 จะถูกควบคุมจากปริมาณน้ำนมที่ทารกดูด โดยหากทารกดูดนมออกมากจะเกิดการสร้างน้ำนมปริมาณมาก ตรงข้ามหากทารกดูดนมออกน้อยการสร้างน้ำนมก็จะน้อยลง ทั้งนี้ในน้ำนมมีสารโปรตีนที่ยับยั้งการสร้างน้ำนม เรียกว่า Feedback Inhibitor of Lactation (FIL)จะยับยั้งการสร้างน้ำนมจากเนื้อเยื่อAlveoliขณะมีน้ำนมอยู่เต็มเต้านม เมื่อมีการระบายน้ำนม สารนี้จะถูกระบายออกไปด้วยทําให้สามารถสร้างน้ำนมต่อไปได้
  2. ต่อมใต้สมองส่วนหลัง (Posterior pituitary gland) จะหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน กระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อบริเวณต่อมน้ำนม (Myoepithelial cell) หดตัวและบีบน้ำนมจากเนื้อเยื่อ Alveoli ไหลผ่านท่อน้ำนมออกมาจนเข้าสู่ปากทารกขณะดูดนม ซึ่งการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโตซินขึ้นกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมารดา ทําให้มีน้ำนมไหลขณะที่ทารกไม่ได้ดูดนม (Milk ejection reflex)แต่หากมารดามีความเครียดเจ็บปวดหรือมีความวิตกกังวลจะเกิดการยับยั้งการหลั่งออกซิโตซินทําให้น้ำนมไม่ไหล

 

ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

ภาวะท่อน้ำนมอุดตันเกิดจากการคั่งค้างของน้ำนม และการจํากัดการระบายน้ำนมซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเต้านมคัดตึงหรือการระบายน้ำนมไม่เพียงพอ สาเหตุเบื้องต้นมาจากทั้งด้านมารดาและทารก ได้แก่ ทารกดูดนมไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากมีภาวะลิ้นติด ดูดน้อย หรือดูดไม่บ่อยพอ  มารดามีปัญหาที่หัวนม เช่น เจ็บหัวนมหรือหัวนมบอดเป็นต้นหรือมารดามีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการเกิดภาวะนี้ เช่น สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เป็นต้น2

ภาวะท่อน้ำนมอุดตันสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการซักประวัติมารดาเกี่ยวกับสาเหตุปัจจัยเสี่ยงและประวัติการก้อนขนาดเล็กหลุดออกมาในน้ำนมและสังเกตพฤติกรรมของมารดาในการให้นมเพื่อประเมินเทคนิคการนําทารกเข้าเต้าท่อน้ำนมที่อุดตันถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะกลายเป็นกาแลคโตซีล (Galactocele) ซึ่งทําให้เต้านมขยายใหญ่คลําได้เป็นก้อน และมีอาการปวดเมื่อบีบเต้านมจะได้น้ำนมที่มีลักษณะเป็นครีมข้นสีขาวนวล

พยาธิสภาพของภาวะท่อน้ำนมอุดตันมี 2 ลักษณะตามที่ศิริรัตน์ เกียรติกูลานุสรณ์2 ได้อธิบายคือเมื่อเต้านมมีการสร้างน้ำนมแล้วการระบายออกไม่เพียงพอน้ำนมที่ค้างอยู่ในเต้านมจะทําให้กระเปาะของต่อมน้ำนมถูกยืดออก ท่อน้ำนมถูกกด การระบายน้ำนมจึงถูกปิดกั้นทําให้เต้านมบวม น้ำนมที่ค้างอยู่ในเต้านมเกิดเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลจนหนาตัวและกลายเป็นก้อนไตแข็ง (Breast lump)ไปกดท่อน้ำนมข้างเคียงทําให้อุดกั้นไปด้วย ทําให้มารดาเกิดความรู้สึกไม่สบายที่บริเวณเต้านม เต้านมคัดตึงขยายวงกว้างมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

พยาธิสภาพอีกประการ คือ เมื่อการระบายของน้ำนมถูกปิดกั้นทําให้เซลล์ที่ทําหน้าที่ในการหลั่งน้ำนมจะถูกกดจนแบน ฉีกขาด และสูญเสียประสิทธิภาพ น้ำนมจึงถูกดูดซึมกลับส่งผลให้ต่อมน้ำนมสูญเสียโครงสร้างและไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อีกอาการแสดงของภาวะท่อน้ำนมอุดตัน คือ มีก้อนเป็นไตแข็งเจ็บเต้านมข้างที่เป็นไตแข็งและมักจะพบผิวหนังบริเวณนั้นแดงอาจพบจุดสีขาวที่ปลายของหัวนม3ซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตของ Epithelium หรือการสะสมอัดแน่นของน้ำนมหรือไขมัน จุดสีขาวนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะท่อน้ำนมอุดตัน และจะมีอาการเจ็บปวดอย่างมากเมื่อลูกดูดนม2

มารดาจะพบปัญหาความไม่สุขสบาย และอาการรบกวนที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปวดเต้านม มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลําเต้านมได้เป็นก้อนแข็ง การไหลของน้ำนมผิดปกติไปจากเดิม เช่นน้ำนมไม่ไหล ไหลน้อยลง เป็นต้น  จากอาการดังกล่าวทําให้มารดาระยะให้นมบุตร ไม่อยากสัมผัสเต้านมทนเจ็บปวด และมีอาการมากขึ้นจนกลายเป็นเต้านมอักเสบในที่สุดการรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตันที่ดีที่สุด คือการป้องกัน และการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การแนะนําให้มารดาดูแลตนเอง โดยมีหลักการสําคัญ คือ การทําให้นมเกลี้ยงเต้า การใช้ความร้อนการนวด และการพัก2

วิธีการนวดเพื่อการป้องกันแนะนําให้เป็นวิธีการที่มารดาสามารถทําได้ด้วยตนเอง เพราะมีความสะดวกสามารถทําได้ตลอดเวลาหากไม่สามารถป้องกันได้แพทย์ เทคนิคการแพทย์หรือพยาบาล อาจจะให้การรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามขอบเขตวิชาชีพของตน เช่น การประคบร้อนหรือเย็น การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound therapy)การติดเทปแบบยืดที่หัวนม (Elastic therapeutic taping)การรักษาด้วยยาที่ช่วยละลายไขมัน เช่น Lecithin และการนวดเต้านมซึ่งมีหลายวิธีดังที่จะนําเสนอในหัวข้อต่อไป

 

การนวดเต้านมเพื่อแก้ปัญหาภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

วัตถุประสงค์ของการนวดเต้านม ในมารดาที่มีภาวะท่อน้ำนมอุดตันคือการช่วยระบายน้ำนมที่คั่งค้างภายในท่อทางเดินน้ำนมให้เป็นปกติ  ส่งเสริมการทํางานของต่อมน้ำนม  ลดความตึงเครียดและทําให้ร่างกายผ่อนคลายวิธีนวดเต้านมโดยทั่วไปมี 2 วิธีคือการนวดด้วยตนเอง  และการนวดโดยมีผู้นวดในบทความนี้จะนําเสนอการการนวดเต้านมเพื่อลดอาการท่อน้ำนมอุดตัน4 รูปแบบ โดย 3 รูปแบบแรกเป็นวิธีการนวด

แบบ TMBL,  SSRMT,  และ CT หรือ PTT ที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมโดยศศิธาราน่วมภาและคณะ10  ซึ่งจะกล่าวถึงพอสังเขปส่วนรูปแบบที่ 4 คือวิธีการนวดเต้านมด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่า ([SSBBM]) ซึ่งเป็นวิธีการนวดที่ใช้ในคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลบุรีรัมย์นั้นจะนําเสนอแบบละเอียดเพื่อเป็นแนวทางสําหรับพยาบาลในการดูแลมารดาหลังคลอดและเป็นแนวทางในการวิจัยเพื่อพัฒนาให้วิธีการนวดนี้เกิดประสิทธิผลเนื่องจากการนําวิธีการนวดเต้านมนี้ไปใช้ในการวิจัยที่ผ่านมายังได้ผลไม่แน่นอน

 

การนวดเต้านมแบบ TMBL

การนวดวิธีนี้ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งจะส่งผลต่อการลดอาการบวมของเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมประกอบด้วยการนวดเต้านมและการบีบน้ำนม โดยปรับเปลี่ยนขั้นตอนไปตามอาการของมารดาเทคนิคการนวดจะใช้การคลึงเต้านมด้วยมือทั้งสองข้างหรือนวดด้วยหลังกําปั้นเป็นจังหวะอย่างเบามือ ส่วนเทคนิคการบีบน้ำนม ก็มี 2 วิธี คือ การบีบน้ำนมแบบพื้นฐาน และ การบีบน้ำนมร่วมกับการนวดเต้านม10

ในขั้นการเตรียมให้จัดท่ามารดาให้อยู่ในท่าที่สุขสบายซึ่งมักเป็นท่านอนหงายขณะนวดควรส่งเสริมให้ทารกดูดนมมารดาด้านตรงข้ามเพื่อช่วยระบายน้ำนมควรนวดอย่างนุ่มนวลประเมินความสุขสบายของมารดาตลอดการนวด และลดน้ำหนักมือเมื่อมารดารู้สึกไม่สุขสบาย1  ได้ทดลองใช้การนวดแบบ TBML ในมารดาที่เต้านมคัดตึงหรืออักเสบร่วมกับการฝึกมารดาให้นวดเต้านมด้วยตนเองและให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เช่น การอุ้มบุตรดูดนม การประเมินปริมาณน้ำนมและการเกิดเต้านมคัดตึงเป็นต้น

ผลการศึกษาพบว่ามารดารับรู้ว่าอาการเจ็บปวดที่เต้านมและหัวนมลดลงมารดาส่วนมาก (ร้อยละ 65) บอกว่าการนวดมีประโยชน์สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แม้ว่าบางคนจะกลับเป็นซ้ำอีกก็ตาม

 

การนวดเพื่อการรักษาแบบ SSRMT

วิธีการนวดนี้พัฒนาโดย Zhao et al.14  มีขั้นตอนหลักและหลักการพื้นฐาน 4 ประการ คือ

1) ประเมินก่อนการนวด

2) จัดมารดาให้อยู่ในท่านั่ง 

3) นวดเต้าข้างละ 5 นาที หากจําเป็นต้องนวดซ้ำ  ควรทําไม่เกิน 2 รอบ และควรนวดเว้นระยะห่าง 3 วัน

4) ห้ามนวดในมารดาที่มีเต้านมอักเสบติดเชื้อมีฝีที่เต้านม มีก้อนเนื้องอก หรือมีอาการบาดเจ็บที่เต้านมจากการมีเลือดคั่งหรือผิวหนังไหม้

 

ส่วนเทคนิคการนวดมี 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1) ขั้นเตรียมความพร้อม

2)ขั้นล้างทางออกของน้ำนม

3) ขั้นจัดการกับหัวนม

4) ขั้นกดและเหยียดลานนม

5) ขั้นกดและนวดเต้านม

6) ขั้นตรวจสอบปริมาณน้ำนมที่เหลือค้าง14

ศึกษาประสิทธิภาพของการนวดแบบ SSRMTในการรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตันในมารดาในระยะให้นมบุตรที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล  จํานวน 3,491 คน แล้ววัดการตอบสนองต่อการรักษาซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 

ระดับที่ 1 มีการแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์

ระดับที่ 2 อาการดีขึ้นมากหลังการแก้ไข

ระดับที่ 3 อาการดีขึ้นหลังการแก้ไข 

ระดับ 4 ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ผลการศึกษาพบว่าหลังจากรักษาแล้ว 1 ครั้ง มารดาส่วนมาก (ร้อยละ 91.2)  มีการตอบสนองต่อการรักษาอยู่ในระดับ 1 คือมีการแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์

 

การนวดแบบ CT หรือ PTT

การนวดวิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการรักษาที่ทําในกรณีที่มารดาแก้ไขปัญหาด้วยตนเองแล้วหรือได้รับการประคบร้อนและการนวดโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่ไม่ได้ผล15โดยมี 4 ขั้นตอน คือ

1) ขั้นประคบร้อนด้วยCervicalhydro collator packs (160 F) วางตรงตําแหน่งที่มีอาการนานประมาณ 10 นาที 

2) ขั้นอัลตราซาวด์เพื่อการรักษา ด้วยความถี่ 1-MHz

3) ขั้นนวด โดยจัดท่ามารดาเป็นท่าตะแคงกึ่งหงายแล้วนวดแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนย่อย คือ (1) นวดโดยใช้มือทั้งสองข้างจับเต้านมข้างที่มีอาการแล้วเริ่มนวดจากบริเวณใกล้หัวนม คลึงเบาๆขยับไปยังหัวนม และสลับขยับออกห่างหัวนม และ (2) นวดและบีบไล่น้ำนมออกจากก้อน สันนิษฐานว่าตําแหน่งของการอุดตันจะอยู่ระหว่างก้อนและหัวนมบริเวณใต้ก้อนต้องใช้แรงกดเพื่อป้องกันน้ำนมไหลเข้าก้อนที่อุดตัน (Backed-up milk in the lump) ดังนั้นมือข้างไม่ถนัดจับก้อนส่วนมือที่ถนัดบีบน้ำนมบริเวณระหว่างก้อนและหัวนมเพื่อไล่น้ำนมที่ค้างออกจากก้อน ระหว่างการนวดอาจเกิดความเจ็บ แนะนําให้มารดาบริหารการหายใจแบบลึก (Deep breathing technique)

4) ขั้นให้ความรู้ในการดูแลเต้านม

 

วิธีการนวดเต้านมด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่า (SSBBM)

วิธีการนวดเต้านมนี้คลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ได้ใช้เพื่อส่งเสริมการไหลของน้ำนมของมารดาหลังคลอดที่มารับบริการที่คลินิกโดยประยุกต์มาจากการนวดของประเทศฟิลิปปินส์และเผยแพร่ประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 416ต่อมากฤษณา ปิงวงศ์ และกรรณิการ์ กันธะรักษา17  ได้เรียกว่าการนวดเต้านมด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่าและจัดให้อยู่ในกลุ่มการนวดเพื่อส่งเสริมการไหลของน้ำนมและเพิ่มปริมาณน้ำนม

การศึกษาเพื่อวัดประสิทธิผลของการนวดเต้านมด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่าวิธีการนวดแบบ SSBBM ได้ถูกระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการกระตุ้นน้ำนมในการวิจัย 2 เรื่องดังต่อไปนี้

กนกพร  เอื้ออารีย์กุลและคณะ18  ได้ศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการกระตุ้นน้ำนมต่อปริมาณน้ำนม และระยะเวลาที่มารดามีน้ำนมเพียงพอสําหรับทารกในมารดาของทารกคลอดก่อนกําหนดโดยโปรแกรมกระตุ้นน้ำนมประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับการกระตุ้นน้ำนม  การประคบเต้านม การนวดเต้านม และการบีบน้ำนม ผู้วิจัย คือ กนกพร  เอื้ออารีย์กุลได้รับการฝึกการนวดด้วยท่าพื้นฐาน 6 ขั้นตอนจากอังสนา วงศ์ศิริพยาบาลวิชาชีพประจําคลินิกนมแม่ โรงพยาบาลบุรีรัมย์เป็นระยะเวลา 1 เดือน จนสามารถนวดได้ถูกต้อง ผลการศึกษาในกลุ่มทดลองจํานวน 13 ราย และมีกลุ่มเปรียบเทียบ จํานวน 15 รายพบว่าปริมาณน้ำนมมาเฉลี่ยในวันที่ 4 และ วันที่ 10 หลังคลอดของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน  และจํานวนวันเฉลี่ยที่มารดามีปริมาณน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของทารกเป็นวันแรก ในกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญ

ต่อมาระวีวัฒน์  นุมานิตและคณะ19ซึ่งเป็นนักวิจัยในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้ออกแบบโปรแกรมการกระตุ้นการหลั่งน้ำนมโดยใช้การนวดเต้านมพื้นฐาน 6 ท่าร่วมกับการประคบเต้านมด้วยลูกประคบสมุนไพร โดยมีคู่มือการสอนสาธิต หรือแผนการสอนเพื่อช่วยส่งเสริมการสร้างและการหลั่งน้ำนมและสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ คือ ภาพพลิกซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสําคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลักการดูดนมที่มีประสิทธิภาพ  ท่าอุ้มลูกดูดนม การปฏิบัติช่วยส่งเสริมการสร้างและการหลั่งน้ำนม  การประคบและการนวดเต้านมเป็นต้น

หลังการศึกษาได้วัดระยะเวลาการเริ่มไหลของน้ำนมและระยะเวลาการมาของน้ำนมเต็มเต้าในมารดาหลังผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง พบว่า มารดาที่เข้าร่วมโปรแกรมมีระยะเวลาการเริ่มไหลของน้ำนมเฉลี่ย 21.4 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่ามารดาที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรม (33.33 ชั่วโมง)  และ มีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาการมาของน้ำนมเต็มเต้า คือ 34.2 ชั่วโมง เร็วกว่ามารดาที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรม  (41.47  ชั่วโมง) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ  (p< .01)

 

การเตรียม และขั้นตอนการนวดด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่า มีดังนี้

ขั้นการเตรียม ประกอบด้วยการเตรียมผู้นวด การเตรียมมารดา และการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์โดยก่อนการนวดผู้นวดต้องล้างมือให้สะอาด ตัดเล็บสั้น ถอดเครื่องประดับที่มือขออนุญาตมารดาก่อนลงมือนวดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่น้ำมันยี่หร่า น้ำมันตะไคร้  น้ำมันมะลิ  น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา หรือน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มความหล่อลื่น ลดการเสียดสีที่ทําให้เกิดความเจ็บปวด และช่วยในการขับน้ำนมด้วยสรรพคุณของสมุนไพรหมอนหนุน  2 ใบ ผ้าขนหนูขนาดกลางสําหรับคลุม  1  ผืนจัดให้มารดานั่งบนพื้นหรือเก้าอี้ หลังตรง

ขั้นการนวด อังสนา วงศ์ศิริ20  พยาบาลวิชาชีพประจําคลินิกนมแม่ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้เผยแพร่ขั้นตอนการนวดไว้ในบทความวิชาการการศึกษาต่อเนื่องสาขาพยาบาลศาสตร์เล่มที่ 14 ดังนี้

ท่าที่ 1  ผีเสื้อขยับปีก (Butterfly stroke) ผู้นวดยืนด้านหลังของมารดา ใช้ฝ่ามือมือวางนาบลงบริเวณเต้านมด้านในของมารดาในแนวเฉียงเล็กน้อย นิ้วแต่ละข้างชิดกัน นวดจากเต้าด้านในออกไปด้านนอกในลักษณะหมุนวนรอบฐานเต้านมจํานวน 5 ครั้ง จากนั้นใช้การหมุนวนกลับจากด้านนอกเข้าด้านใน 5 ครั้ง

ผีเสื้อขยับปีก

ท่าที่ 2  หมุนวนปลายนิ้ว (Fingertip circles) ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของมารดาใช้อุ้งมือขวารองเต้านมขวาของมารดาไว้  พร้อมกับใช้ปลายนิ้วทั้ง 4 ของมือซ้ายวางนาบลงบริเวณเหนือลานหัวนม แล้วนวดโดยการหมุนวนไปรอบ ๆ เต้านม ลงน้ำหนักพอประมาณ  5 รอบ จากนั้นสลับนวดทีละเต้า 

หมุนวนปลายนิ้ว

ท่าที่ 3  ประกายเพชร (Diamond stroke) ผู้นวดยืนด้านหลังไปทางขวามือของมารดาใช้ฝ่ามือขวาวางทาบลงเต้าขวาด้านขวา ฝ่ามือซ้ายวางทาบเต้าขวาด้านซ้าย นิ้วหัวแม่มือทั้ง2 กางออกตั้งฉากกับนิ้วทั้งหมด ในลักษณะประคอง จากนั้นบีบมือทั้ง 2 เข้าหากันพร้อม ๆ กับเลื่อนมือลงไปที่ลานหัวนม ทําสลับขึ้นลง ลงน้ำหนักแน่นพอควรจากนั้นใช้มือซ้ายและขวาแตะสลับเต้านมส่วนล่าง 5  ครั้ง  และใช้มือคลี่เต้านมด้านล่างด้วยนิ้วลักษณะปูไต่  5  ครั้ง

ท่าประกายเพชร

ท่าที่ 4  กระตุ้นท่อน้ำนม (Acupressure point I) ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของผู้ถูกนวดใช้มือซ้ายประคองเต้านมขวาผู้ถูกนวด  กํามือขวาเหลือเพียงนิ้วชี้ วางลงบริเวณขอบนอกของลานหัวนม (โดยวัดตําแหน่งการวางจากฐานหัวนมออกไปหนึ่งข้อนิ้วหัวแม่มือ) กดนิ้วชี้พร้อมกับวนที่ปลายนิ้วในตําแหน่งเดียวกัน ขยับนิ้วเปลี่ยนตําแหน่ง กดและวนนิ้วในลักษณะเดิมโดยไม่ให้สัมผัสกับหัวนมท่าที่ 5  เปิดท่อน้ำนม(Acupressure point II)ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของมารดาการวัดตําแหน่งผู้นวดใช้สามนิ้วของมือข้างขวาวางทาบลงเหนือฐานหัวนมด้านบน ใช้สามนิ้วของมือซ้ายวางทาบต่อจากนิ้วสุดท้ายของมือขวา  ตําแหน่งที่ได้คือ การวางของนิ้วชี้ข้างซ้าย  ใช้มือขวาวางที่ข้างแขนของผู้ถูกนวด มือซ้ายใช้นิ้วชี้ กดและหมุนวนลงในตําแหน่งที่วัดได้  คลายการกดลง แล้วกดซ้ำทําในลักษณะเดิม  5 ครั้ง 

ท่าที่ 4  กระตุ้นท่อน้ำนม (Acupressure point I)

ท่าที่เปิดท่อน้ํานม (Acupressure point II) ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของมารดาการวัดตําแหน่งผู้นวดใช้สามนิ้วของมือข้างขวาวางทาบลงเหนือฐานหัวนมด้านบน ใช้สามนิ้วของมือซ้ายวางทาบต่อจากนิ้วสุดท้ายของมือขวา  ตําแหน่งที่ได้คือ การวางของนิ้วชี้ข้างซ้าย  ใช้มือขวาวางที่ข้างแขนของผู้ถูกนวด มือซ้ายใช้นิ้วชี้ กดและหมุนวนลงในตําแหน่งที่วัดได้  คลายการกดลง แล้วกดซ้ำทําในลักษณะเดิม  5 ครั้ง 

ท่าที่ 5  เปิดท่อน้ํานม (Acupressure point II)

ท่าที่พร้อมบีบน้ำนม (Final  steps) ผู้นวดยืนด้านหลังค่อนไปทางขวามือของมารดา ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ จะมีทั้งหมด 3 ขั้นตอนทําให้ครบทุกท่าแล้วจึงเปลี่ยนข้าง และทําเช่นเดิม โดยทุกขั้นตอนจะไม่สัมผัสถูกหัวนม

ท่าบีบน้ำนม

ปัจจุบันคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลบุรีรัมย์กําลังพัฒนาการนวดด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่า เพื่อลดอาการท่อน้ำนมอุดตันเพราะจากการพิจารณาท่านวดต่าง ๆ พบว่า

ท่าที่ 1  ช่วยประเมินตําแหน่งที่มีการอุดตันหรือมีก้อน

ท่าที่ 2  เป็นการหาของท่อน้ำนมมีการอุดตัน ประเมินทางออกของน้ำนม ท่านี้สามารถไล่น้ำนมที่ติดค้างในท่อน้ำนมได้ดี

ท่าที่ 3  ช่วยกําจัดหรือคลายก้อนที่อยู่ใต้ฐานเต้านม

ท่าที่ 4  กระตุ้นให้มีการไหลของน้ำนม 

ท่าที่ 5  ช่วยในการสร้างน้ำนม

และท่าที่ 6  คลายท่อน้ำนมที่อุดกั้นบริเวณคอหัวนม ทําให้น้ำนมไหลออกได้ดี 

และจากการให้บริการการนวดด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่า แก่มารดาหลังคลอดในระยะให้นมบุตรที่มีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันจํานวน 32 รายในระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม 2564 โดยเก็บข้อมูล 3 ส่วน คือ

1) บันทึกการไหลของน้ำนม ซึ่งประกอบด้วย ดูดได้เกลี้ยงเต้าทุกครั้งและน้ำนมไหลพุ่งทุกครั้งที่ลูกดูด

2) สอบถามความพึงพอใจในการนวดเต้านม 

และ 3)ประเมินความปวดก่อนและหลังการนวดเต้านม

พบว่าหลังการนวดเต้านมน้ำนมไหลออกได้เกลี้ยงเต้า และน้ำนมไหลพุ่งดีกว่าก่อนการนวด  มารดามีความพึงพอใจและคิดว่าการนวดช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจลดความตึงเครียด  ส่วนอาการปวดเต้านมพบว่าก่อนและหลังการนวดเต้านมความปวดไม่แตกต่างกัน

การนวดด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่านี้จึงมีศักยภาพที่จะช่วยแก้ไขปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้  ซึ่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์จะพัฒนาการศึกษาประสิทธิผลการนวดเต้านมนี้ในการวิจัยต่อไป

ความน่าเชื่อถือ (Creditability) ของการนวดด้วยท่าพื้นฐาน 6 ท่าเริ่มจากการที่ผู้นวด คืออังสนา ศิริวัฒนเมธานนท์ได้รับการฝึกโดยการนวดเต้านมเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ (Relactation) จากกลุ่มแม่บ้านฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า Arugaan Mother Support Group ที่โรงพยาบาลสมิติเวชซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยและได้เผยแพร่ความรู้บทความ เรื่อง  การนวดเต้านมวิถีแห่งการเพิ่มน้ำนมลงในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 416และบทความวิชาการการศึกษาต่อเนื่อง เล่มที่ 14  ของสภาการพยาบาล20และถูกบรรจุในกระบวนการเรียนการสอน ในหลักสูตรวิทยากรแกนนําการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสภาการพยาบาล21เป็นวิทยากรฝึกปฏิบัติการนวดเต้านมในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและโรงพยาบาลหลายแห่งรวมทั้งสอนและสาธิตการนวดแก่ประชาชนผู้สนใจเช่นการนวดเต้านมในงานสัปดาห์นมแม่โลก 2012 และงานประชุมวิชาการพยาบาลแห่งชาติครั้งที่ 14รวมทั้งเผยแพร่ในรายการของสถานีโทรทัศน์

ต่อมาในปี 2558 อังสนา ศิริวัฒนเมธานนท์ได้พัฒนาทักษะเพิ่มเติมด้วยการไปพบผู้เชี่ยวชาญการนวดเต้านมในงาน 11thOne Asia Breastfeeding Partners Forum  2015 ที่ประเทศมาเลเซียเพื่อตรวจสอบความตรงของเนื้อหา (Content validity) ของภาพที่แสดงขั้นตอนการนวดในแผ่นพับ เรื่องการนวดเต้านม: วิถีแห่งการเพิ่มน้ำนม20 และแสดงวิธีการนวดให้อาจารย์ได้ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง  พร้อมทั้งได้รับการนวดจริงจากอาจารย์ เพื่อสังเกตน้ำหนักมือจนเป็นที่ยอมรับได้

วิธีการนวดที่ได้รับการพัฒนาหลังจากการประชุมนี้ ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างในปัจจุบันและคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลบุรีรัมย์เป็นคลินิกสําหรับการศึกษาดูงานเรื่องการนวดเต้านมโดยเฉพาะผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความและเอกสารประกอบการประชุมเขียนโดยอังสนา วงศ์ศิริ16,20

วิธีการประเมินผลลัพธ์ของการนวดเต้านมเพื่อลดภาวะท่อน้ำนมอุดตันดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าคลินิกนมแม่  โรงพยาบาลบุรีรัมย์ได้ประเมินผลลัพธ์ของการนวดเต้านม ด้วยการประเมินการไหลของน้ำนม ความเจ็บปวดและความพึงพอใจ ขณะที่กนกพร  เอื้ออารีย์กุล,  พรรณรัตน์  แสงเพิ่ม,และสุดาภรณ์  พยัคฆเรือง18ประเมินด้วยปริมาณน้ำนมมาเฉลี่ยในวันที่ 4 และวันที่ 10 หลังคลอดและและจํานวนวันเฉลี่ยที่มารดามีปริมาณน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของทารกเป็นวันแรก ส่วนระวีวัฒน์  นุมานิตและคณะ19ประเมินด้วยระยะเวลาการเริ่มไหลของน้ำนมและระยะเวลาการมาของน้ำนมเต็มเต้า ซึ่งยังไม่มีการประเมินภาวะท่อน้ำนมอุดตันโดยตรงการประเมินภาวะท่อน้ำนมอุดตันและการตอบสนองต่อการรักษา ได้จากการวิจัยของWitt et al.1    และ Zhao et al.14   โดยWitt et al.1  ได้ประเมินและบันทึกความรุนแรงของท่อน้ำนมอุดตันซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ตามลักษณะของการตรวจพบก้อน คือ  

1) ระดับ 0 ไม่มีก้อน

2) ระดับ1 มีก้อน 1 ตําแหน่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 3 เซนติเมตร

3) ระดับ 2  มีก้อน 1 ตําแหน่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 3 เซนติเมตรแต่ไม่ถึง 5 เซนติเมตร

4) ระดับ 3 มีก้อน 1 ตําแหน่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 5 เซนติเมตรและ

5) ระดับ 4  มีก้อนมากว่า 1 ก้อน  (หรือมีตําแหน่งการอุดตันมากกว่า 1 พื้นที่)

ส่วนZhao et al. 14 ได้พัฒนาเกณฑ์การจัดกลุ่มการตอบสนองต่อการรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตัน (The response classification criteria of plugged duct) โดยแบ่งการตอบสนองต่อการรักษาออกเป็น 4 เกรด คือ

เกรด 1 (แก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์) ประเมินจากการที่น้ำนมกลับมาไหลตามปกติ ร่วมกับการตรวจพบว่าก้อนต่าง ๆ (หรืออาการคัดตึงเต้านมเฉพาะที่ ) ที่เคยตรวจพบนั้นยุบหายไปอย่างสมบูรณ์ และไม่มีอาการเจ็บเต้านม

เกรด 2(อาการดีขึ้นมาก) ประเมินจากการตรวจพบว่าน้ำนมกลับมาไหลตามปกติหรือเกือบปกติร่วมกับการตรวจพบว่าอาการเจ็บเต้านมลดลงอย่างมาก และขนาดของก้อน (หรือขนาดของพื้นที่ที่มีอาการคัดตึง) ก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน

เกรด 3 (อาการดีขึ้น)ประเมินจากการตรวจพบว่าน้ำนมไหลออกเพิ่มขึ้น ร่วมกับการตรวจพบว่าขนาดของก้อน (หรือขนาดของพื้นที่ที่มีอาการคัดตึง) ลดลงเล็กน้อยหรือปานกลาง และยังคงมีอาการปวดเต้านม

เกรด 4 (ไม่ตอบสนองต่อการรักษา) ประเมินจากการตรวจพบว่าการไหลของน้ำนมไม่เปลี่ยนแปลงร่วมกับตรวจพบว่าก้อน (หรือขนาดของพื้นที่ที่มีอาการคัดตึง) ขนาดเท่าเดิม  และยังคงมีอาการเจ็บเต้านม

 Zhao et al. 14 ให้ข้อเสนอแนะว่าการประเมินผลนี้ควรทําโดยผู้นวด ในทันทีที่นวดเสร็จโดยให้ประเมินเต้านมทีละข้าง ถ้าผลการประเมินไม่เหมือนกันให้ใช้เต้าที่ได้ผลการประเมินที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า (อยู่ในเกรดสูงกว่า) เป็นตัวแทนของการประเมินโดยภาพรวมของมารดารายนั้นข้อห้ามและข้อควรระวังในการนวดเต้านมการนวดเต้านมที่มีประสิทธิภาพผู้นวดจะรู้สึกว่าเกิดความร้อนบริเวณเต้านมขณะนวด แต่การนวดที่ไม่ถูกต้อง อาจทําให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของเต้านมให้มารดาหลังคลอดได้ และอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย ผู้นวดจึงควรปฏิบัติด้วยความระมัดระวังดังนี้

  1. ควรวินิจฉัยอาการและการแยกอาการผิดปกติอย่างถูกต้องก่อนการนวดเต้านม การวินิจฉัยอาการเต้านมคัดตึง ท่อน้ำนมอุดตันและเต้านมอักเสบควรปฏิบัติตามมาตรฐานและคํานึงถึงความถูกต้องแม่นยําเนื่องจากมีอาการผิดปกติที่อาจพบก้อนในระยะให้นมบุตรหลายชนิด เช่น เช่น เนื้องอกเต้านมมะเร็งเต้านมหรืออาการเลือดคั่ง ถ้าสงสัยความผิดปกติของเต้านมควรส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
  2. ห้ามนวดเต้านมในมารดาที่มีเต้านมอักเสบ ติดเชื้อปวดบวม แดงร้อน เพราะจะทําให้อักเสบเพิ่มขึ้น ห้ามนวดผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง เพราะจะทําให้เชื้อแพร่กระจายและห้ามนวดกรณีเต้านมมีความผิดปติอื่น ๆ เช่น เต้านมเป็นฝี เนื้องอก มีแผลหรือก้อนเลือดคั่ง มะเร็งเต้านม ผิวหนังไหม้ และมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง หรือมีประวัติการผ่าตัดเสริมหรือลดขนาดของเต้านม
  3. ควรนวดเต้านมอย่างนุ่มนวลเบามือ ปรับน้ำหนักมือไม่ให้เบาหรือหนักจนเกินไปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและฟกช้ํา โดยสังเกตจากสีหน้าและท่าทางของผู้ถูกนวดประกอบขณะนวด ผู้นวดควรได้รับการฝึกฝนและเตรียมความพร้อมในเทคนิคการนวดเต้านม ควรเล็บตัดสั้นนวดและไม่สวมเครื่องประดับทุกชนิดและคํานึงถึงข้อห้ามและข้อควรระวังในการนวดเต้านมไม่สัมผัสถูกหัวนมตลอดการนวดสรุปการนวดเต้านมช่วยหมุนเวียนการทํางานของระบบไหลเวียนเลือดกระตุ้นการทํางานของต่อมน้ำนมเนื่องจากในเต้านมมีเนื้อเยื่อที่มีความอุดมสมบูรณ์ของหลอดเลือดและน้ำเหลือง กระตุ้นให้เนื้อเยื่อคลายตัวและส่งเสริมการระบายน้ำเหลืองตามธรรมชาติ ทําให้ปริมาณของน้ำนมเพิ่มขึ้นช่วยลดปัญหาเต้านมคัดตึงและป้องกันภาวะท่อน้ำนมอุดตัน อีกทั้งยังช่วยค้นพบความผิดปกติของเต้านมได้เร็วขึ้น

จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าการนวดเต้านมที่สามารถแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้มี 3 วิธีคือ วิธี TBBL, SSRMT, และ CT หรือ PTT ในบทความนี้ผู้แต่งได้นําเสนอวิธีการนวดวิธีที่ 4 คือแบบ SSBBM โดยละเอียดสําหรับเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันเนื่องจากลักษณะการนวดมีศักยภาพในการแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้วิธีการนวดนี้จึงควรได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิผลดีโดยออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการแก้ปัญหาการไหลของน้ำนม ด้วยการวิจัยเชิงทดลองหรือการวิจัยแบบผสานวิธี

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Witt AM,  Bolman M, Kredit S, & Vanic A. Therapeutic breast massage in lactation forthe management of engorgement, plugged ducts, and mastitis.J Hum Lact2016;32:123-31. doi: 10.117/0890334415619439.
  2. ศิริรัตน์ เกียรติกูลานุสรณ์. การจัดการทางกายภาพบําบัดในผู้ป่วยท่อน้ำนมอุดตัน. วารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน2561;24:320-34.
  3. พฤหัสจันทร์ประภาพ. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. ใน:ประภัทร วนิชพงษ์พันธ์ม กุศล รัศมีเจริญ, และตรีภพ เลิศบรรณพงษ์, บรรณาธิการ. ตําราสูติศาสตร์. กรุงเทพ: พี เอ ลีฟวิ่ง จํากัด; 2560.หน้า 427-40.
  4. Who Health Organization [Internet]. 2022 [cited 2022 Aug 24]. Available from:https://www.who.int/health-topics/breastfeeding#tab=tab_3
  5. ข้อมูลสถิติ  Unit Profile.คลินิกนมแม่ กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล โรงพยาบาลบุรีรัมย์. 2564.
  6. Sokan Adeaga M, Sokan-Adeaga A, Sokan-Adeaga E. A systematic review on exclusive breastfeeding practice in Sub-Saharan Africa:facilitators and barriers. ASMS 2019;3:53-6.
  7. UNICEFfor every child.Division of Data, Analysis, Planning and Monitoring[Internet].2021 [cited 2022Jun2].Available from: https://www.unicef.org/media/91026/file/DAPM-2019-HQAR.pdf
  8. สํานักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทย. โครงการสํารวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562, รายงานผลฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: สํานักงานสถิติแห่งชาติ; 2563.
  9. กระทรวงสาธารณสุข. ร้อยละของเด็กแรกเกิด -ต่ำกว่า 6 เดือน กินนมแม่อย่างเดียว[อินเตอร์เน็ต].2565[เข้าถึงเมื่อ2มิ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://hdcservice.moph.go.th/hdc/reports/report.php?source=pformated/format1.php&cat_id=1ed90bc32310b503b7ca9b32af425ae5&id=4164a7c49fcb2b8c3ccca67dcdf28bd0#
  10. ศศิธารา  น่วมภา,พรนภา ตั้งสุขสันต์,วาสนา  จิติมา,และกันยรักษ์  เงยเจริญ.การนวดเต้านมเพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่:การปฏิบัติพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์.  วารสารพยาบาลศาสตร์2563;38:4-21.
  11. สาวิตรี พรานพนัส,สุอารีย์ อันตระการ,พยุง แห่งเชาวนิช. กายวิภาคของเต้านมและกลไกการสร้างและหลั่งน้ำนม. ใน:ศุภวิทย์  มุตตามระ,กุสุมา ชูศิลป์,อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ,วราภรณ์ แสงทวีสิน,ยุพยง แห่งเชาวนิช, บรรณาธิการ. ตําราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. กรุงเทพฯ:มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย; 2555.หน้า 1-13.
  12. ฉันทิกา จันทร์เปีย. กายวิภาคของเต้านมสรีรวิทยาของการสร้างและหลั่งน้ำนมและกลไกการดูดของทารก. ใน กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์,พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม,นันทิยา วัฒนายุ,สุพินดา เรืองจิรัษเฐียร, และสุดาภรณ์ พยัคฆเรือง, บรรณาธิการ. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. กรุงเทพฯ: พรี-วัน; 2555. หน้า 61-82.
  13. Lawrence, RA.Lawrence,RM. Breastfeeding: A guide for the medical Profession. 8thed. United States of America:Elsevier;2016.
  14. Zhao C, Tang R, Wang J, Guan X, Zheng J, Hu J,et al. Six-step recanalization manual therapy: a novel method for treating plugged ducts in lactating. J Hum Lact2014;30:324-30. doi: 10.1177/0890334414532314.
  15. Cooper BB, KowalskyDS, Physical therapy intervention for treatment of blocked milk ducts in lactating women. J Womens HealthPhys Therap2006;30:26.doi:10.1097/01274882-200630020-00006
  16. อังสนา  วงศ์ศิริ. การนวดเต้านม :วิถีแห่งการเพิ่มน้ำนม. ในเอกสารประกอบประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ; 2556. 
  17. กฤษณา  ปิงวงศ์,และกรรณิการ์ กันธะรักษา. การนวดเต้านมเพื่อส่งเสริมการสร้างและหลั่งน้ำนม.พยาบาลสาร2560;44:169-76.
  18. กนกพร  เอื้ออารีย์กุล, พรรณรัตน์  แสงเพิ่ม,สุดาภรณ์  พยัคฆเรือง. ผลของโปรแกรมกระตุ้นน้ำนมต่อปริมาณน้ำนมและระยะเวลาที่มารดามีน้ำนมเพียงพอสําหรับทารก ในมารดาทารกเกิดก่อนกําหนดที่ผ่าตัดคลอด.วารสารพยาบาลศาสตร์2561;36:71-82.
  19. ระวีวัฒน์ นุมานิตย์.ผลของโปรแกรมการกระตุ้นการหลั่งน้ำนมต่อระยะเวลาการเริ่มไหลของน้ำนมและระยะเวลาการมาของน้ำนมเต็มเต้า ในมารดาหลังผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง.การประชุม HACC FORUM ครั้งที่ 12; วันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2561; สํานักวิชาพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเขตนครชัยบุรินทร์ (HACC นครชัยบุรินทร์) และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน). จังหวัดนครราชสีมา: ม.ป.พ.;2561.
  20. อังสนา วงศ์ศิริ.พลังนวดเพิ่มน้ำนม.ใน:กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์, พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม. บทความวิชาการการศึกษาต่อเนื่องสาขาพยาบาลศาสตร์ เล่มที่ 14  การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. กรุงเทพฯ: ศิริยอดการพิมพ์; 2557.หน้า 45-52.
  21. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาวิทยากรแกนนําเครือข่ายการสนับสนุน และคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่; วันที่ 12-13 มิถุนายน 2565;สภาการพยาบาล โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล;นครปฐม: ม.ป.พ.2557.