การเก็บน้ำนมเหลืองก่อนคลอด

การบีบน้ำนมเหลืองโคลอสตรัมก่อนคลอด 

มารดาเริ่มผลิตน้ำนมเหลือง (น้ำนมส่วนต้น) ในขณะตั้งครรภ์ ความสามารถในการบีบน้ำนมเหลืองเป็นทักษะที่มีประโยชน์ การเก็บน้ำนมเหลืองที่คุณบีบออกมาอาจเป็นประโยชน์เช่นกันหากลูกน้อยของคุณมีแนวโน้มที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหลังคลอด

 

น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบสำหรับลูกน้อย หากมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และคุณแม่และลูกน้อยต้องแยกจากกัน หรือหากลูกน้อยของคุณมีปัญหาในการกินนมหรือมีปัญหาสุขภาพ คุณแม่จะรู้สึกว่าการบีบนมของคุณให้ลูกน้อย ทำได้ง่ายขึ้น หากคุณได้ฝึกฝนมาก่อน

 

ทำไมต้องบีบน้ำนมออกในขณะตั้งครรภ์?

การทำความคุ้นเคยกับหน้าอกของคุณ และเข้าใจการทำงานของมันจะช่วยให้คุณมีความมั่นใจตอนหลังคลอด

 

  • คุณจะสามารถบีบน้ำนมเหลืองจำนวนเล็กน้อยออกจากหัวนมของคุณได้ หากลูกน้อยของคุณต้องการการกระตุ้นตอนให้นม
  • คุณจะสามารถบีบน้ำนมเหลืองให้ลูกของคุณได้ หากเขามีปัญหาในการกินนม หรือต้องได้รับการดูแลในห้องผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด หรือหน่วยดูแลพิเศษสำหรับทารก
  • การที่คุณแม่สามารถบีบน้ำนมด้วยมือ จะช่วยลดปัญหาอาการคัดตึงและเต้านมอักเสบได้

 

หากลูกของคุณไม่สามารถดูดนมจากเต้าได้ดีในช่วงสองสามวันแรก ความสามารถในบีบน้ำนมด้วยมือจะช่วยให้คุณ :

  • บีบน้ำนมออกมาได้ หากจำเป็น
  • มีน้ำนมของคุณเองสำหรับลูกน้อย เพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะต่างๆ เช่นน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือดีซ่าน
  • หลีกเลี่ยงความจำเป็นในการเสริมนมผงสำหรับทารก

 

ควรบีบน้ำนมเมื่อใด

คุณสามารถเริ่มบีบน้ำนมได้ในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากพยาบาลผดุงครรภ์

ปลอดภัยไหม

ไม่ต้องกังวล การทำตามคำแนะนำในการบีบน้ำนมประมาณ 2-3 นาทีในแต่ละวัน มีโอกาสน้อยที่จะกระตุ้นให้เกิดการคลอด หากคุณมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ให้ตรวจสอบกับพยาบาลผดุงครรภ์ หากรู้สึกถึงอาการบีบรัดของมดลูกในขณะบีบน้ำนม ให้หยุดทันทีและติดต่อพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณ

 

สถานการณ์พิเศษ

น้ำนมเหลือง ที่บีบออกมาก่อนคลอด

การหัดบีบน้ำนมด้วยมือในขณะตั้งครรภ์ และการเก็บน้ำนมเหลืองจะมีประโยชน์สถานการณ์พิเศษบางอย่าง ได้แก่:

 

ทารกที่มีปากแหว่งเพดานโหว่

นี่อาจเป็นอาการที่วินิจฉัยได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ทารกที่มีอาการปากแหว่งในรูปแบบใดๆ ก็ตาม จะพบว่าการดูดนมจากเต้าทำได้ยากขึ้น การให้ลูกกินนมจากเต้ามีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรก เนื่องจากจะช่วยป้องกันทารกเหล่านี้จากการติดเชื้อทางหูและทางเดินหายใจ เมื่อรอยแหว่งได้รับการแก้ไข น้ำนมของคุณจะช่วยส่งเสริมการรักษาและปกป้องลูกน้อยของคุณจากเชื้อโรคในโรงพยาบาล

 

แม่ที่เป็นโรคเบาหวาน

ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ทารกของแม่ที่เป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงต่อการมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) ทารกต้องการน้ำนมเหลืองเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด การให้ลูกด้วยนมแม่ล้วน (โดยไม่ให้นมผสมเลย) สามารถลดความเสี่ยงที่ทารกจะเป็นโรคเบาหวานตอนโตได้ด้วย

 

การผ่าตัดคลอดหรือการคลอดโดยให้ยากระตุ้น

วางแผนในการบีบน้ำนมในวันก่อนคลอด เพื่อจะได้มีน้ำนมพร้อมใช้งานหากคุณและลูกน้อยต้องแยกจากกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกของคุณคลอดก่อนกำหนด

 

มารดาที่มีความผิดปกติของเต้านม หรือได้รับการผ่าตัดเต้านม

น้ำนมเหลืองที่เก็บไว้จะมีประโยชน์หากคุณประสบปัญหาในการผลิตน้ำนม

 

ภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

ภาวะทางการแพทย์บางอย่างอาจทำให้คุณและลูกน้อยเริ่มการให้ลูกกินนมจากเต้าได้ยากขึ้น หรือหากคุณแม่ต้องเริ่มใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยสำหรับแม่ให้นมบุตรทันทีหลังคลอด ก็ยังสามารถให้น้ำนมเหลืองที่บีบเก็บไว้แก่ลูกน้อยได้

 

ปรึกษาพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณ

โรงพยาบาลบางแห่งได้มีนโยบายในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการบีบน้ำนมก่อนคลอดอยู่แล้ว พยาบาลผดุงครรภ์และสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมฝากครรภ์ของคุณอาจมีข้อมูลที่จะแบ่งปันเกี่ยวกับการนวดเต้านมและวิธีการบีบน้ำนมด้วยมือ นอกจากนี้พวกเขายังอาจจะเตรียมขวดขนาดเล็กและไซรินจ์หรือภาชนะอื่นๆ ที่ผ่านการฆ่าเชื้อและมีฉลากสำหรับเขียนชื่อ เพื่อช่วยในการเก็บน้ำนมเหลืองของคุณได้ด้วย

ถามโรงพยาบาลที่จะคลอด ว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านการให้อาหารทารกหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญจะมีข้อมูลอย่างดีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแหล่งสนับสนุนในช่วงแรกๆ หลังคลอด

 

ทำไมต้องบีบด้วยมือ?

การบีบน้ำนมด้วยมือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบีบน้ำนมเหลือง มันเรียนรู้ได้ไม่ยากและจะง่ายยิ่งขึ้นหากมีการฝึกฝน คุณจะบีบน้ำนมเหลืองได้ปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นการใช้เครื่องปั๊มจะไม่สามารถทำได้และอาจไม่ได้ผลดีเท่าการบีบมือ

คุณอาจได้รับข้อมูลและการสาธิตการบีบน้ำนมด้วยมือจากพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณ หัวข้อ “การบีบน้ำนมด้วยมือ” มีข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคที่มีประสิทธิภาพ

ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแค่ต้องบีบน้ำนม 3-5 นาทีเท่านั้น เพียงแค่ให้ได้น้ำนมเหลืองไม่กี่หยด มันอาจดูเหมือนไม่มากนัก แต่อาหารมื้อแรกของทารกก็คือน้ำนมเหลืองไม่ถึงหนึ่งช้อนชา การบีบน้ำนมเพียง 3 ครั้งในหนึ่งวัน คุณก็จะสามารถบีบน้ำนมได้มากพอสำหรับหนึ่งมื้อ ด้วยการฝึกฝนและกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ คุณจะสามารถบีบน้ำนมเหลืองได้มากขึ้น

 

เมื่อคุณไปคลอด

นำน้ำนมเหลืองที่เก็บไว้ใส่ถุงเย็นไปโรงพยาบาลด้วย โรงพยาบาลสามารถช่วยหาที่เก็บน้ำนมเหลืองที่แช่แข็งไว้ให้ได้ ที่เก็บอาจจะอยู่ในห้องดูแลเด็กพิเศษ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณหรือผู้ดูแลของคุณจดบันทึกว่าเก็บน้ำนมเหลืองไว้ที่ไหน และระบุรายละเอียดนี้ในบันทึกการคลอดของคุณ

หากคุณและลูกน้อยมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาหรือต้องแยกจากกัน สามารถละลายน้ำนมเหลืองที่แช่แข็งไว้ 1 ถุง (หรือขวดหรือไซรินจ์) เมื่อใกล้คลอด เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมครั้งแรกหากจำเป็น

 

เมื่อทารกคลอด

ลูกน้อยของคุณจะต้องเข้าเต้าอย่างน้อย 8–12 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากคุณกับทารกต้องแยกจากกัน หรือคุณไม่สามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ คุณสามารถละลายน้ำเหลืองของคุณให้ทารกทีละถุงเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มีน้ำนมเหลือทิ้ง นอกจากนี้น้ำนมเหลืองของคุณยังสามารถใช้เป็นอาหารเสริมได้หากลูกน้อยต้องการ

 

สองสามวันแรก

การให้ลูกดดูดนมจากเต้าบ่อยๆ และการให้ลูกอยู่ใกล้ๆ จะช่วยสร้างปริมาณน้ำนมของคุณ และทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เริ่มต้นได้ดี หากคุณและลูกน้อยของคุณต้องแยกจากกัน ให้บีบน้ำนม 8 ครั้งในช่วง 24 ชั่วโมง โดยมีหนึ่งครั้งที่บีบตอนกลางคืน จนกว่าลูกของคุณจะสามารถดูดนมจากเต้าได้

การบีบน้ำนมเป็นสิ่งสำคัญเท่าๆ กับการให้ลูกเข้าเต้า หากลูกน้อยของคุณกินนมได้ไม่ดีหรือต้องการอาหารเสริมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมและทำให้มีน้ำนมสำหรับมื้อต่อไปของลูกน้อยหากจำเป็น หากมีปัญหาใดๆ ควรขอความช่วยเหลือจาก LLL ที่อยู่ใกล้บ้านตามรายชื่อ

 

เทคนิคที่มีประโยชน์

การบีบน้ำนมด้วยมือเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ที่ควรเรียนรู้ แม้ว่าคุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าพวกเขาแทบไม่จำเป็นต้องบีบมือและเก็บน้ำนมเลยก็ตาม

การบีบน้ำนมด้วยมือมีประสิทธิภาพ สะดวก และไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้คุณแม่ยังอาจพบว่าคุณสามารถบีบน้ำนมได้มากขึ้นโดยการใช้มือบีบร่วมกับการใช้เครื่องปั๊มประสิทธิภาพสูง นุ่มนวล ไม่ทำให้บาดเจ็บ

 

การบีบน้ำนมในระหว่างตั้งครรภ์

  1. ความอุ่นและความรู้สึกผ่อนคลายจะช่วยให้ทำได้ง่ายขึ้น
  2. ในตอนแรกคุณสามารถฝึกบีบน้ำนมในระหว่างอาบน้ำได้ เมื่อคุณจะเริ่มเก็บน้ำนมเหลืองควรบีบน้ำนมหลังอาบน้ำ
  3. ล้างมือให้สะอาด
  4. การนวดหน้าอกจะช่วยให้กระตุ้นให้น้ำนมไหล
  5. บีบน้ำนมด้วยมือจากหน้าอกทั้งสอง ระวังอย่าให้เกิดความเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว
  6. คุณอาจจะแค่เห็นหยดเล็กๆ ของน้ำนมเหลืองออกมาในขณะที่คุณบีบน้ำนม บีบน้ำนมลงในภาชนะเก็บโดยตรง เพื่อจะได้เก็บน้ำนมทุกหยดที่มีค่าไว้ได้ หากคุณมีไซรินจ์และรู้สึกว่าการเก็บน้ำนมเหลืองทำได้ยาก ให้บีบน้ำนมลงในภาชนะขนาดเล็กที่สะอาด (เช่น ถ้วย) แล้วใช้ไซรินจ์ดูดน้ำนมเหลืองขึ้นมา
  • คุณสามารถบีบน้ำนมได้ถึง 3 ครั้งในหนึ่งวัน
  • หากคุณวางแผนที่จะบีบน้ำนมอีกในวันนั้น ให้เก็บไซรินจ์ไว้ในส่วนที่เย็นที่สุดของตู้เย็น ซึ่งปกติจะอยู่ด้านหลัง
  • เมื่อคุณบีบน้ำนมเป็นครั้งสุดท้ายในวันนั้น ให้เก็บไซรินจ์ในถุงพลาสติกทีปิดสนิท ติดฉลากและเขียนวันที่ ก่อนเก็บในช่องแช่แข็ง
  • หากคุณวางแผนการผ่าตัดคลอดหรือกำลังคลอดโดยถูกกระตุ้นภายในหนึ่งหรือสองวัน สามารถเก็บนมน้ำเหลืองไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้ น้ำนมเหลืองที่เพิ่งบีบออกมาช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและสามารถแช่เย็นในช่องธรรมดาได้นาน 48 ชั่วโมง

เขียนโดย Karen Butler, Sue Upstone และแม่ๆ สมาชิก La Leche League ในสหราชอาณาจักร

Source: https://www.laleche.org.uk/antenatal-expression-of-colostrum/


  • AOM_6590.jpg
    Q: Colostrum คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร A:Colostrum หรือหัวน้ำนมเหลือง คือน้ำนมในช่วงแรกที่เต้านมผลิตขึ้นมาสำหรับทารกในช่วงแรกคลอดเพียง 3-5 วันเท่านั้น มีสีเหลืองข้นและเหนียว และมีป...

  • LINE_ALBUM_แม่แพร +น้องฟาริต้าcarum medpark_211118_2.jpg
    บริการที่คุณแม่จะได้รับสำหรับ Best Start Course (12,000.-) กระตุ้นและเก็บน้ำนมเหลืองแรกคลอดด้วยเครื่อง Carum (สำหรับกระตุ้น colostrum โดยเฉพาะ) โดยโค้ชนมแม่ผู้มีประสบการณ์ จำนวน1...

  • Colostrum คืออะไร Colostrum หรือหัวน้ำนมเหลือง คือน้ำนมในช่วงแรกที่เต้านมผลิตขึ้นมาสำหรับทารกในช่วงแรกคลอดเพียง 3-5 วันเท่านั้น มีสีเหลืองข้นและเหนียว และมีปริมาณเพียงน้อยนิด แต่ม...

  • LINE_ALBUM_แม่แคร์+โค้ชจุ๋ม_211118_1.jpg
    Pfizer หรือ Moderna กี่เข็มก็สู้เข็มนี้ไม่ได้ Colostrum หรือหัวน้ำนมเหลืองแรกคลอด เป็น Super Vaccine ที่ดีที่สุดสำหรับลูก ไม่มีโรงงานหรือนวัตกรรมใดๆ จะเลียนแบบได้ มีแต่คุณแม่เท่านั...