รู้ยัง? เครื่องปั๊มนมช่วยเพิ่มน้ำนมได้นะ

วิธีเพิ่มปริมาณน้ำนมที่ดีที่สุด คือ ให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธีบ่อยๆ และต้องเป็นการดูดอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ดูดแล้วต้องได้น้ำนม ไม่ใช่แค่การอมหัวนมแม่เป็นเวลานานๆ เท่านั้น

 

ปกติแล้ว ลูกอาจจะดูดนมแม่ทั้งวัน วันละ 10 - 12 ครั้ง ครั้งละ 10 - 20 นาที แต่ถ้าการดูดนั้นผิดวิธี กลับจะไม่ช่วยให้ร่างกายแม่ผลิตน้ำนมได้เพียงพอต่อความต้องการ คุณแม่ควรตรวจสอบการดูดนมของลูก ถ้าไม่แน่ใจ ให้รีบไปปรึกษาที่คลินิกนมแม่แต่เนิ่นๆ เพื่อแก้ไขและนำลูกเข้าเต้าได้ดีขึ้น

 

นอกจากการให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีบ่อยๆ แล้ว การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี มีประสิทธิภาพการดูดใกล้เคียงกับทารก จะช่วยปั๊มน้ำนมออกมามากขึ้น และยิ่งถ้าสามารถปั๊มน้ำนมออกมาได้มากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะสามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้นเท่านั้น

 

เครื่องปั๊มนมที่ดีเป็นอย่างไร? 

เครื่องปั๊มนมที่ดีต้องมีแรงดูด (Suction strength) ใกล้เคียงกับแรงดูดของทารก หรือมีจังหวะในการดูดอย่างน้อย 40 - 60 รอบต่อนาทีนั่นเอง

 

ช่วง 6 - 12 สัปดาห์แรก ถ้าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปด้วยดี ร่างกายมักจะผลิตน้ำนมได้เกินกว่าความต้องการของทารก การปั๊มนมในช่วงนี้จึงค่อนข้างง่าย และได้ปริมาณมาก แม้ว่าจะใช้เครื่องปั๊มนมที่มีจังหวะในการดูดต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาทีก็ใช้ได้

 

แต่เมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวแล้ว เครื่องปั๊มนมที่มีจังหวะการดูดต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาที จะทำให้ปั๊มนมไม่ออก ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องปั๊มนมนานกว่า 4 เดือนขึ้นไป ควรเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมที่มีจังหวะในการดูดมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป

 

ใช้เครื่องปั๊มนมช่วยเพิ่มน้ำนม

ไม่ว่าคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน หรือคุณแม่ทำงาน สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมในช่วงแรกที่เพิ่งคลอดได้ โดยใช้หลักการนี้ และเมื่อน้ำนมเยอะแล้ว ค่อยปรับการปั๊มออกให้พอเหมาะกับปริมาณที่ต้องการจริง

 

1. ถ้าเป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน เมื่อน้ำนมมาแล้ว ต้องหมั่นให้ลูกเข้าเต้า ไม่ต้องกังวลเรื่องนั่งปั๊มนมทำสต๊อก หรือเพิ่มน้ำนมมากจนเกินไป ให้ใช้เวลากับลูกในการให้นม ยิ่งเพิ่มความอบอุ่นทางใจให้ลูก การให้ลูกดื่มจากเต้าจะได้คุณค่านมที่เต็มที่ และสร้างพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจของทั้งลูกและคุณแม่

 

2. ถ้าเป็นคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน หรือต้องแยกจากลูกนานๆ ต้องทำสต๊อกนม ให้หมั่นปั๊มสม่ำเสมอ

 

3. ปริมาณน้ำนมที่ร่างกายผลิต เท่ากับ ปริมาณน้ำนมที่ลูกดูด หรือบีบ หรือปั๊มออกไป ดังนั้น ถ้าต้องการให้มีน้ำนมมากเท่าใด ต้องดูดหรือปั๊มหรือบีบออกให้มากเท่านั้น

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น ถ้าลูกต้องการน้ำนมวันละ 20 ออนซ์ (ตัวเลขสมมติ)

กรณีที่ 1 แม่ให้ลูกดูดทั้งวันโดยไม่ใช้นมผสมเลย ร่างกายแม่ก็จะผลิตน้ำนมได้ 20 ออนซ์เท่าที่ลูกดูดออกไป  นั่นคือ เพียงพอสำหรับลูก แต่ไม่มีสต๊อก

 

กรณีที่ 2 แม่ให้ลูกดูดทั้งวันและให้นมผสมจากขวด 1 มื้อ จำนวน 2 ออนซ์ ถ้าทำเช่นนี้ ร่างกายแม่ก็จะผลิตน้ำนมได้เพียง 18 ออนซ์ ซึ่งไม่พอสำหรับลูก ถ้าให้นมผสมร่วมไปเรื่อยๆ ร่างกายแม่ก็จะผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ

 

กรณีที่ 3 แม่ให้ลูกดูดทั้งวัน และปั๊ม หรือบีบออกมาได้อีกวันละครั้ง ครั้งละ 2 ออนซ์ ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมได้วันละ 22 ออนซ์ นั่นคือ มีสต๊อกวันละ 2 ออนซ์


ทำสต๊อกน้ำนมด้วยเครื่องปั๊มนม

สำหรับแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน หรือต้องห่างจากลูกเป็นเวลานาน ให้จำไว้เสมอว่า ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ ยิ่งง่ายเท่านั้น โดยเฉพาะภายใน 1 - 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด แต่ถ้าพลาดช่วงเวลานั้นมาแล้ว อย่าเพิ่งกังวล ยังสามารถเริ่มต้นได้ทันที ขอให้แม่มีความตั้งใจ เรามีคำแนะนำ ดังนี้

เริ่มจากมื้อเช้า ช่วงตี 5 - 6 โมง ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมได้มากที่สุด 

- ถ้าตื่นก่อนลูก ให้ปั๊ม หรือบีบน้ำนมออกก่อน 1 ข้าง ประมาณ 15 นาที ได้เท่าไหร่ก็ไม่ต้องกังวล ทำทุกวัน น้ำนมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วเก็บเอาไว้ เมื่อลูกตื่นให้ลูกดูดอีกข้างหนึ่ง นานจนกว่าลูกจะพอใจและถอนปากออกจากเต้าแม่เอง ถ้าไม่หลับ ก็ให้ลูกมาดูดต่อข้างที่เราปั๊มไปแล้ว เมื่อลูกดูดเสร็จให้กลับมาปั๊มข้างที่ลูกดูดตอนแรกต่ออีก 2 - 3 นาทีเพื่อกระตุ้น

- ถ้าลูกตื่นก่อน ให้ลูกดูดก่อนหนึ่งข้างนานเท่าที่ลูกต้องการ เมื่อลูกถอนปากออกจากเต้า ให้ปั๊มอีกข้างที่เหลือประมาณ 15 นาที แล้วปั๊มข้างที่ลูกดูดไปแล้วอีก 2 - 3 นาที ทั้งสองข้างได้นมเท่าไหร่ก็เก็บไว้ ถ้าลูกไม่หลับ อาจจะให้ลูกมาดูดต่อข้างที่ปั๊มซ้ำอีกก็ได้

 

คุณแม่สามารถทำเช่นนี้ได้หลายๆ มื้อต่อวัน โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่ต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนม ช่วงที่ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดีคือ กลางคืน และตอนเช้า ส่วนช่วงบ่ายและเย็นจะผลิตได้น้อยกว่า

 

สิ่งที่ต้องระวังเมื่อต้องการเพิ่มน้ำนม

น้ำนมที่บีบ หรือปั๊มออกมาในช่วงที่ทำการเก็บสต๊อกนี้ ต้องไม่นำมาให้ลูกกิน เพราะจะไม่ช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่ม แต่ควรนำมาใช้หลังจาก 1 เดือนผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายแม่ผลิตน้ำนมได้คงที่แล้ว และเป็นการหัดฝึกกินขวดและนมสต๊อกเมื่อแม่จะไม่อยู่

 

ถ้าต้องกลับไปทำงานก็ใช้น้ำนมที่สต๊อกไว้นี้ให้ลูก เวลาไปทำงานก็ปั๊มจากที่ทำงานกลับมาทดแทนสต๊อกที่ใช้ไป ถ้าทำได้เช่นนี้จะสามารถให้นมลูกได้จนถึงสองปี โดยไม่ต้องพึ่งนมผสมเลย

 

การปั๊มนมหลังจากกลับไปทำงานแล้ว คุณแม่ต้องมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ เช้าให้ลูกดูดก่อนไปทำงาน เมื่อถึงที่ทำงานให้ปั๊มเวลา 9.00, 12.00 และ 15.00 ของทุกวัน แล้วกลับมาให้ลูกดูดทันทีที่กลับถึงบ้าน ส่วนวันเสาร์ - อาทิตย์ ควรให้ลูกดูดทั้งวันตามต้องการ

 

สิ่งที่ควรระวัง ในช่วง 1 - 4 เดือนแรก ถ้าให้ลูกดูดสม่ำเสมอร่วมกับการบีบหรือปั๊ม ร่างกายจะผลิตน้ำนมได้มาก จนอาจทำให้คุณแม่ชะล่าใจว่า น้ำนมเหลือเฟือเกินพอ อยากจะหยุดให้ลูกดูดบางมื้อ หยุดปั๊มตามเวลา พยายามให้ลูกงดมื้อดึก ฯลฯ การทำแบบนั้นอาจทำให้น้ำนมลดลงได้ภายในไม่กี่วัน

 

และเมื่อลูกอายุมากขึ้น ตั้งแต่ 2 - 6 เดือนขึ้นไป การบีบหรือปั๊มอาจจะได้ปริมาณลดลง หรือไม่รู้สึกคัดเต้านม ก็ไม่ใช่เรื่องที่คุณแม่ต้องกังวล ตราบใดที่ลูกยังดูดจากเต้าแม่สม่ำเสมอ บีบหรือปั๊มออกตามเวลาทุกวัน น้ำนมก็ไม่มีวันหมดไปจากร่างกาย

 

ปริมาณน้ำนมที่ลดลงเมื่อลูกอายุเกิน 1 ปี เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ลูกจะต้องเจริญเติบโตจากอาหารอื่นร่วมด้วยแล้ว ไม่ใช่นมแม่เพียงอย่างเดียว คุณแม่ยังคงสามารถให้นมแม่ต่อไปได้ ไม่ว่าจะปั๊มหรือให้จากเต้า แต่ดูแลให้ลูกทานอาหารตามวัยที่เหมาะสมด้วย

 

ข้อมูลจาก www.breastfeedingthai.com

ความรู้เรื่องนมแม่