ทำไมถึงต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่? เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานแค่ไหน? มีอะไรบ้างในน้ำนมแม่? ถ้ามีปัญหาจะทำอย่างไร?...

ทำไมต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ทารกเจริญเติบโตได้ดีที่สุดด้วยนมแม่ เป็นคำแนะนำจากประเทศอังกฤษรวมถึงองค์การอนามัยโลกและหลายๆประเทศที่แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยปราศจากอาหารอื่นและน้ำ สำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน หลังจากนั้นให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควบคู่ไปกับอาหารอื่นและน้ำได้นานเท่าที่แม่และลูกต้องการ


ทารกที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ มีความเสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อและพัฒนาเป็นภูมิแพ้ รวมถึงเสี่ยงต่อภาวะอ้วนและโรคมะเร็งได้มากกว่าทารกที่กินนมแม่ มารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ และมีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุนในภายหลังเช่นกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นสิ่งที่สะดวก ไม่ต้องเตรียมการใดๆ และสิ่งที่แตกต่างจากนมดัดแปลงสำหรับทารกนั่นคือ นมแม่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

 

ใครที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดสำหรับคำถามนี้ แต่จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมถึงในหลายประเทศซึ่งบรรดาแม่ๆเลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แนะนำอย่างหนักแน่นไว้ว่า มีแม่เพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นทักษะที่แม่และลูกเรียนรู้ไปพร้อมกัน การได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง การให้กำลังใจและการสนับสนุนสามารถช่วยให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีความสุข และสามารถช่วยให้แม่แก้ปัญหาต่างๆได้ 

 

ฉันควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหน

องค์การอนามัยโลกระบุว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์สำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ หรือมากกว่านั้น โดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็กที่จะกินนมแม่เป็นเวลานานๆ แม้ว่าเราจะเคยชินกับทารกที่กินนมแม่ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน เด็กโตอาจจะกินนมแม่ไม่บ่อยมาก และการหย่านมจากเต้าอาจจะใช้ระยะเวลายาวนาน ระยะเวลาของการกินนมแม่ยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณและลูก อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งมีคุณค่ามาก หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เพียงช่วงสั้นๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คุณก็จะรู้สึกภูมิใจที่คุณได้ให้สิ่งเริ่มต้นที่ดีกับกับลูก

 

อะไรอยู่ในนมแม่

นมแม่เต็มไปด้วยสารอาหารสำคัญมากกว่า 200 ชนิดที่ช่วยให้ทารกเจริญเติบโตและพัฒนา และให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค ในระหว่างการตั้งครรภ์และในช่วงวันแรกๆหลังจากคลอด คุณผลิดน้ำนมเหลือง (โคลอสตัม) ซึ่งเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าสูงและภูมิต้านทานสูงต่อทารก หลังจาก 3-5 วัน น้ำนมแม่จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงกลายเป็นน้ำนมที่สมบูรณ์เต็มที่

น้ำนมถูกผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของทารก ยิ่งทารกดูดบ่อยเท่าไหร่ คุณยิ่งผลิดนมได้เร็วขึ้นเท่านั้น เต้านมไม่เคยว่างเปล่า เนื่องจากจะมีการผลิตน้ำนมเข้ามาเติมเต็มเท่าที่ทารกดูดออกไป การทิ้งช่วงระยะเวลาของการให้นมนาน หมายความว่าเราจะผลิตน้ำนมได้ปริมาณน้อย เมื่อมีน้ำนมค้างเต้า สารที่อยู่ในน้ำนมที่ยับยั้งการหลั่งน้ำนม (FIL) จะบอกร่างกายเราว่าให้หยุดการสร้างน้ำนม ดังนั้นยิ่งมีน้ำนมค้างเต้ามากเท่าไหร่ ยิ่งมีปริมาณสารยับยั้งการหลั่งน้ำนม (FIL) มากเท่านั้น นี่คือกลไกการควบคุมปริมาณน้ำนม ดังนั้นสิ่งนี้บ่งบอกได้ว่าน้ำนมถูกผลิดตามความต้องการของทารก

องค์ประกอบของนมเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณน้ำนมในเต้า เนื่องจากน้ำนมจะถูกดูดออกโดยทารก ปริมาณไขมันในน้ำนมส่วนหลังจะเพิ่มขึ้น และกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทารกหลังจากที่ทารกได้ดูดน้ำนมส่วนหน้าซึ่งมีปริมาณน้ำมากออกไป มันไม่จำเป็นในการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนของการให้นมแม่ ระยะเวลาขึ้นอยู่กับทารก การตอบสนองของร่างกายของคุณ และความจุน้ำนมในเต้านมของคุณ ปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและทารกของคุณ การให้นมแม่ตามที่ทารกต้องการหมายความว่าคุณจะผลิดน้ำนมได้เพียงพอ แต่การให้นมแม่ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตายตัวอาจทำให้คุณผลิตน้ำนมไม่เพียงพอได้  

 

ฉันควรเริ่มให้นมแม่เมื่อไหร่

หากทารกมีสุขภาพแข็งแรง เริ่มต้นด้วยการโอบอุ้มทารกไว้ให้กายสัมผัสกัน จากนั้นเคลื่อนทารกมาที่เต้านม ซึ่งสามารถเริ่มได้ทันทีหลังจากคลอด ไม่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักหรืออาบน้ำในทันที คุณและทารกสามารถเริ่มทำความรู้จักกันได้ และทารกอาจจะแสดงอาการอยากดูดเต้าให้เห็นในช่วงเวลาที่มีค่านี้

หลังจากนั้น โอบอุ้มทารกไว้ให้บ่อยเท่าที่คุณสามารถทำได้ และเรียนรู้ในการสังเกตอาการอยากดูดเต้าของทารก ซึ่งอาจเกิดขึ้นบ่อยมาก การให้นมทารกพร้อมกับการหลับคาเต้า รวมถึงสัมผัสกับความรู้สึกของการใกล้ชิด และให้ทารกทำความคุ้นเคยกับเสียงของคุณ กลิ่นและสัมผัสของคุณ

 

 

ถ้าฉันพบปัญหาต้องทำอะไร

ขอความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้จาก พยาบาลที่ทำคลอดให้คุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ หรือผู้ให้คำปรึกษาด้านการให้นมแม่ รายละเอียดมีระบุไว้ในส่วนการกุศลของเรา ในหลายๆปัญหา การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้

 

 

อะไรบ้างที่ฉันจำเป็นต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปได้ด้วยดี

การจัดท่าทางการให้นมแม่ให้ดี ถูกต้อง และขอความช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น มีเวบไซต์จำนวนมากที่เป็นประโยชน์ ที่ให้ข้อมูล รูปภาพประกอบ วิดีโอของการเอาทารกเข้าเต้า

เข้าไปที่ www.nhs.uk เพื่อเข้าไปดูสิ่งที่ต้องทำซึ่งง่ายกว่าการที่คุณจะอ่านข้อมูล การจัดท่าทางและการเอาทารกเข้าเต้าให้ถูกต้องจะทำให้ทารกดูดนมได้ดี การนำน้ำนมออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการกระตุ้นการผลิตน้ำนม จะทำให้คุณผลิตน้ำนมได้ปริมาณมากขึ้น โดยหัวนมต้องเข้าไปอยู่ส่วนบนของปากทารก เหนือลิ้น และไม่อยู่ตำแหน่งตรงกลางเป็นการอมนม ที่จะทำให้ทารกดึงหัวนมแม่มาที่ด้านหลังของปาก ดังนั้นจะไม่ทำให้เกิดแรงกดระหว่างลิ้นและเพดานปาก ทารกจำเป็นที่จะต้องอ้าปากกว้าง และคุณจะเคลื่อนทารกเข้าหาเต้าในจังหวะที่อ้าปากกว้างที่สุด เมื่อทารกอมนมบริเวณลานนม คางทารกจะสัมผัสกับเต้านมของคุณและจมูกจะไม่โดนกดทับ ทารกจะดูดและกลืนน้ำนมได้ ในจังหวะ อ้าปาก-งับ-อม

 

ฉันจะทราบได้อย่างไรว่าการให้ทารกกินนมแม่ดำเนินไปได้ด้วยดี

ในช่วงวันแรกๆ มีสัญญาณบ่งชี้ที่เป็นประโยชน์หลายอย่างซึ่งจะทำให้คุณเชื่อมั่นได้ เช่น ทารกมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทารกขับถ่ายอุจจาระขี้เทาทุกๆวันในช่วง 3-4 วันแรก ซึ่งอุจจาระเปลี่ยนสีจากสีดำเป็นน้ำตาลและเป็นสีเขียว ต่อมาทารกขับถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลือง จากนั้นในวันที่ 4-5 ทารกจะมีความต้องการดูดนมหลายครั้งในตลอด 24 ชั่วโมง คุณจะไม่รู้สึกเจ็บในการให้นม และให้นมได้อย่างสบาย หากไม่มีสัญญาณบ่งชี้เหล่านี้เกิดขึ้น ต้องขอความช่วยเหลือ

โดยใน 4-6 สัปดาห์ ทารกจะหยุดการขับถ่ายอุจจาระบ่อยๆเท่าแต่ก่อน หากมีการขับถ่ายอุจจาระ 1 ครั้งในทุกๆ 2-3 วัน นับว่าเป็นสิ่งปกติ

 

เราต้องให้นมแม่จากเต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง

ให้ทำตามที่ทารกต้องการ ในช่วงวันแรกๆ ควรพยามที่จะให้ลูกได้ดูดนมจากทั้งสองเต้าในเวลาที่เท่าๆกันใน 1 วัน ดังนั้นคุณอาจจะเปลี่ยนเต้าในการให้นมได้ ทารกบางคนต้องการดูดจากทั้งสองเต้าในทุกๆครั้ง บางคนต้องการดูดจากเต้าเดียว บางคนต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการดูดนม 1 ครั้งและต้องการแบบที่เหลือในการดูดครั้งอื่น มันเป็นเรื่องปกติสำหรับทารกในเรื่องการดูดนม ดังนั้นจึงเปิดและปิดเต้าได้ตลอดเวลา และหยุดใส่ใจต่อประเด็นนี้  

 

ฉันอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องปั๊มนมเมื่อไหร่ 

เครื่องปั๊มนมเป็นวิธีการหนึ่งในการนำน้ำนมออกจากเต้า ซึ่งทำสองสิ่งดังนี้

  • เป็นการให้นมกับทารกโดยใช้ขวดนม แก้วให้นม หลอดฉีด สายยางให้นม
  • เป็นการบอกให้ร่างกายแม่ทราบว่าต้องผลิตน้ำนม

เหตุผลหลักซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องปั๊มนมมีดังนี้

  • หากทารกอยู่ในสภาวะพิเศษหรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
  • หากคุณถูกแยกจากทารกด้วยเหตุผลใดๆๆก็ตาม เช่น การไปทำงานนอกบ้าน
  • หากทารกไม่สามารถดูดนมจากเต้าคุณได้โดยตรง
  • หากคุณต้องการเก็บน้ำนมไว้ให้กับผู้เลี้ยง ผู้ดูแลลูกคุณ บางทีอาจเป็นช่วงระหว่างที่คุณพักหรือออกไปข้างนอกโดยไม่มีทารกไปด้วย
  • เพื่อความสบาย ในกรณีที่เต้านมของคุณมีอาการอักเสบ บวม หรือ หัวนมเกิดการบาดเจ็บ แตก (พึงระวังว่า ทั้ง 2 ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยผู้เชี่ยวชาญ และโดยการจัดท่าทางและการเอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี)
  • เป็นส่วนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการให้ลูกดูดนมจากเต้าแม่โดยตรง หากคุณมีความกังวลเรื่องการดูดนมของลูก และช่วยในเรื่องการเพิ่มน้ำหนัก
  • เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม
  • หากคุณมีลูกแฝดหรือมากกว่านั้น และเป็นประโยชน์ในการให้ผู้อื่นช่วยเลี้ยงและให้นมแม่ได้

หมายเหตุ : คุณสามารถบีบน้ำนมได้โดยใช้มือ แต่แม่จำนวนมากพบว่าเครื่องปั๊มนมที่ดีทำให้เกิดความสะดวกและง่ายกว่าการใช้มือบีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณจำเป็นต้องปั๊มนมในระยะยาว

 

ฉันควรปั๊มนมออกบ่อยแค่ไหน ?

หากคุณกำลังปั๊มนมเพื่อรักษาระดับปริมาณน้ำนม หรือเพื่อกู้น้ำนมเพราะว่าคุณต้องการกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกครั้งหลังจากหยุดไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม เครื่องปั๊มนมของคุณจะต้องแทนที่การที่ลูกดูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องปั๊มอย่างน้อยบ่อยเท่าที่ลูกดูด หมายถึง การปั๊มให้ได้อย่างน้อย 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง รวมถึงอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงกลางคืน หากคุณไม่ปั๊มบ่อยเท่านี้ ร่างกายจะผลิตน้ำนมได้น้อยลง การปั๊มเลยเวลา จะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้

 

เราจำเป็นต้องใช้ซิลิโคนเสริมกรวยปั๊มหรือไม่

ซิลิโคนเสริมกรวยปั๋มสามารถช่วยให้เครื่องปั๊มนมกระชับกับเต้านมได้

 

 

ฉันสามารถเก็บนมแม่ด้วยวิธีการอย่างไร

นมปั๊มจากเต้าสามารถเก็บได้ที่ตู้เย็น (อุณหภูมิ 4-6 องศาเซลเซียส) สำหรับระยะเวลา 3 วัน เพื่อที่จะสามารถเก็บสำรองน้ำนมไว้ได้ นมปั๊มจากเต้าสามารถเก็บได้ในระยะเวลา 3 เดือน ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และระยะเวลา 6 เดือนในช่องแช่แข็งเย็นจัดที่อุณหภูมิอย่างน้อย -20 องศาเซลเซียส ถุงเก็บน้ำนมที่สามารถแช่แข็งได้จึงถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้เก็บน้ำนมแม่

 

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อฉันต้องกลับไปทำงาน

คุณต้องปั๊มนมไว้สำหรับลูกเมื่อคุณไม่อยู่บ้าน แม่ๆหลายท่านปั๋มนมที่ทำงาน โดยนำเครื่องปั๊มและถุงเก็บความเย็นไปด้วย เพื่อเก็บน้ำนมในระหว่างวันทำงาน มันคุ้มค่ามากในการที่คุณจะนำเรื่องการปั๊มนมไปปรึกษาต่อฝ่ายบุคคล หรือสมาคมวิชาชีพ หรือสหภาพแรงงาน เพื่อดูว่ามีนโยบายในการให้นมแม่หรือไม่ หากไม่มีนโยบาย บางทีคุณอาจเป็นคนแรกที่เริ่มต้นสิ่งนี้ได้

กฏระเบียบในการทำงานและข้อควรปฏิบัติ ระบุให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมต่อหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรเพื่อให้ได้พัก หากต้องการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ดาวน์โหลด PDF    

 

ฉันหยุดให้นมแม่ ฉันสามารถเริ่มใหม่ได้หรือไม่

ได้ – สิ่งนี้เรียกว่า การกู้น้ำนม คุณสามารถติดต่อไปที่เบอร์สายด่วนที่ได้ะบุไว้บนหน้าการกุศล ซึ่งจะสามารถช่วยคุณได้ หากคุณหยุดให้นมแม่มาเป็นระยะเวลายาวนาน (มากกว่า 1 สัปดาห์ หรือ มากกว่านั้น) คุณอาจจำเป็นต้องขยันปั๊มนมออกบ่อยๆและเอาลูกเข้าเต้าหลายครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน แต่วิธีนี้จะสามารถรักษาปริมาณน้ำนมไว้ได้ การนำน้ำนมออกจากเต้าด้วยการปั๊มหรือบีบด้วยมือหลายๆครั้ง (อย่างน้อย 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง รวมถึงอย่างน้อย 1 ครั้งในตอนกลางคืน) จะเป็นการบอกร่างกายคุณและน้ำนมจะกลับมาซึ่งลูกคุณอาจจะมีความต้องการอยากดูดเต้าเพิ่มขึ้นได้

 

 

ฉันสามารถบริจาคนมแม่ได้หรือไม่

ได้ การบริจาคนมแม่ให้กับทารกที่ต้องการและมารดาที่ไม่สามารถให้นมบุตร หรือผลิตน้ำนมที่เพียงพอต่อบุตรได้ นับว่าเป็นของขวัญที่พิเศษมาก หากต้องการบริจาคสามารถติดต่อ ธนาคารนมแม่รามาธิบดี  โทร. 02-200-4530

 

แม่บุญธรรมสามารถให้นมแม่ได้หรือไม่

ได้ การให้นมแม่ที่รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเครื่องปั๊มนมที่ดีมีประโยชน์ต่อการกระตุ้นเต้านมให้ผลิตน้ำนมก่อนที่จะรับบุตรเข้ามา และเพื่อรักษาปริมาณน้ำนมสำหรับการให้นมโดยใช้ขวดนมหรือวิธีการอื่นๆ

 

 

กระเพาะของทารกแรกเกิดมีขนาดใหญ่แค่ไหน

นักวิจัยค้นพบว่าในวันแรกที่ทารกเกิด กระเพาะของทารกแรกเกิดไม่ถูกยืดไปมากกว่าที่มันจะเป็นในวันแรก หรือ 2 วันต่อมา สิ่งนี้อธิบายได้จากประสบการณ์ของพยาบาลจำนวนมากซึ่งได้เรียนรู้ จากทารกแรกเกิดซึ่งได้รับน้ำนมในปริมาณ 1 หรือ 2 ออนซ์จากขวดนมในระหว่างวันแรกที่เกิด ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเก็บน้ำนมเท่าที่เก็บไว้ได้ ผนังของกระเพาะทารกแรกเกิดจะไม่ยืดขยาย แต่จะขับนมปริมาณส่วนเกินออก มากกว่าที่จะยืดขยายเพื่อเก็บปริมาณนมไว้

ในวันแรก ความจุของกระเพาะทารกแรกเกิดมีขนาดประมาณ 1/6 ถึง 1/4 ของ 1 ออนซ์ (5 ถึง 7 มิลลิลิตร) ต่อการดูดนมแต่ละครั้ง ไม่เป็นการประหลาดใจเนื่องจากร่างกายได้ผลิตน้ำนมเหลือง (โคลอสตรัม) ไว้พร้อมในเต้าแล้ว ในวันที่ 3 ทารกต้องการการดูดนมที่บ่อยขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย กระเพาะทารกแรกเกิดมีขนาดประมาณลูกแก้ว (22 ถึง 27 มิลลิลิตร) ซึ่งสามารถจุนมได้มากขึ้น ในวันที่ 5 กระเพาะทารกแรกเกิดมีความจุประมาณ 57 มิลิลิตร และในวันที่ 10 มีขนาดประมาณลูกปิงปอง (60 ถึง 81 มิลลิลิตร)

 

 ขนาดกระเพาะทารก

เป็นความคิดที่ดีหรือไม่ในการให้นมในปริมาณที่มากขึ้นต่อครั้งเพื่อให้กระเพาะทารกขยายได้เร็ว

ไม่ถูกต้อง การให้นมในปริมาณน้อย บ่อยครั้ง จะสร้างรูปแบบการกินที่ดีต่อสุขภาพได้ ผู้ใหญ่ในปัจจุบันได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นการดีต่อสุขภาพมากขึ้นหากมีการกินในปริมาณที่น้อยกว่าแต่บ่อยกว่าเดิม และเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับทารกและเด็ก การให้เด็กกินนมในปริมาณที่มากๆจะนำไปสู่ภาวะการกินอาหารมากเกินไป หากการกินอาหารมากเกินไปกลายเป็นสิ่งปกติสำหรับทารก มันอาจนำไปสู่พฤติกรรมการกินที่ไม่ดีซึ่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะอ้วนในเด็กได้ในภายหลัง

 

ดัดแปลงจาก Linda J. Smith"s, "Coach"s Notebook: Games and Strategies for lactation Education." Boston: Jones and Bartlett, 2002.